วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 18, 2549

งานช้าง

หายไปนานกับการเขียนบล็อก นานมากด้วยนะ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเป็นเรื่องราวของคนใกล้ตัว เหอ เหอ คือคนที่อยู่กินด้วยกัน มีลูกด้วยกันนั่นแล
โจทย์ของเขาคนนั้น คือทำงานอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับรังสีการแพทย์ ไม่จำกัดว่าจะเป็นอะไร ขอให้เป็นงานที่เอาไปใช้แล้วเกิดประโยชน์ มองดูแล้วเป็นของใหม่ ซึ่งไม่ได้ลอกเลียนเขามา เช่นทำอุปกรณ์ช่วยในการจัดท่าเอกซเรย์ หรือ ทำวิจัยเรื่องเกียวกับรังสี ทำอะไรก็ได้่ว่างั้น
ก็มานั่งคุยกัน แฟนผมก็อยากทำเกี่ยวกับการสอน เหตุจูงใจก็มาจาก เมื่อก่อนตอนที่ยังอยู่บ้านพัก ก็ต้องอยู่เวรนอกเวลา เวลามีเคสนอกเวลาก็ขึ้นไปทำเอง ปัญหาเกี่ยวกับเทคนิคการฉายรังสีก็ไม่เกิด ทีนี้พอมาอยู่บ้านตัวเอง ก็ไม่ได้อยู่เวรแล้ว เป็นน้องๆ ที่แฟน เค้าเทรนขึ้นมาเพื่อที่จะปฏิบัติงานแทนในเวลาที่ไม่ได้มาทำงาน หรือไปอบรม ไปราชการ ตอนแรกๆ ก็ราบรื่นดีอยู่หรอก ช่วงหลังๆ มา แพทย์เวรมักสั่งให้เอกซเรย์ท่าแปลกๆ ใหม่ๆ น้องที่อยู่เวรก็ไม่ชัวร์ว่าัจะจัดท่าอย่างไร ใช้อุปกรณ์อย่างไร ต้องโทรมาถามให้แน่ใจ กว่าจะลงมือทำได้ก็เนิ่นนาน คิดไปก็บ่นไปว่าทำอย่างไรจะให้น้องๆ เค้ามีคู่มือเกี่ยวกับเทคนิคง่ายๆ ประกอบการใช้งาน นอกจากหนังสือ,แผ่นป้ายที่ได้รับจากบริษัทขายอุปกรณ์ เพื่อที่จะเห็นว่าจัดท่าอย่างไร ใช้ปริมาณรังสีเท่าไร ฟิล์มที่ได้ควรเป็นอย่างไร เครื่องคอมพิวเตอร์ในที่ทำงานก็มีว่างอยู่ น่าจะเอามาทำประโยชน์ตรงนี้ได้
ทบทวนอยู่หลายรอบแล้วมีความเห็นตรงกันว่าจะทำเป็น บทเรียนช่วยสอน (Computer Assisted Instruction) แต่ว่าจะทำอย่างไรล่ะ ใช้เครื่องไม้เครื่องมือตัวไหนมาพัฒนา นึกไปถึง Authorware ซึ่งผมเองเคยไปอบรมมาเมื่อหลายปีก่อน (หลายปีมากๆ แล้ว) คิดว่าพอจะรื้อฟื้นไหวน่า
แต่แฟนผมกลับมีโจทย์เพิ่มเติมมาอีกว่า เมื่อทำเป็น CAI แล้ว ควรที่จะให้ผู้ใช้ เพิ่มเติม แก้ไข ข้อมูลเหล่านั้นด้วยตัวเองได้ด้วย อืม Authorware มันจะทำได้ป่าวฟระ เริ่มคิดอยู่หลายตลบ หนักใจมากขึ้น คิดถึง Web Application ขึ้นมาตะหงิดๆ
Web Application เป็นคำตอบที่ชัดเจนในโจทย์นี้ สามารถโต้ตอบกับยูสเซอร์ได้แน่ๆ แต่การ implement ระบบนั้นหิน ต้องมีเวบเซอร์เวอร์ มีฐานข้อมูล โอวพระเจ้าจอร์ช แค่คิดก็เหนื่อยแ้ล้ว ลำพังแค่การเขียนเวบเพจเพื่อติดต่อฐานข้อมูล ก็ยากอยู่แล้ว (ผมเรียนมาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ) งานการที่ทำอยู่ทุกวันก็ให้บริการผู้ป่วย ไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรงในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ นึกๆ แล้วก็ค่อนข้างท้อ
พักเรื่องนี้ไปหลายวัน ขณะนั้นก็ไซโคแฟนไปเรื่อย ให้เปลี่ยนโปรเจ็คซะดีกว่า งานนี้ยากทั้งคนทำ ยากทั้งคนเอาไปใช้ เล่นเอาซึมไปทั้งคนฟัง และคนพูด
แวบนึงที่ผุดขึ้นมาในสมอง คือ AppServ 3 in 1 ทั้ง Apache, MySQL, PHP การติดตั้งก็ไม่ยากมาก Next Next ... แล้วก็ Finish ตามสไตล์ของหน้าต่าง ใช้บนหน้าต่างได้ กลุ่มที่เซียนหน่อย (ใช้ลินุกซ์เป็น) ก็เอาแค่เวบเพจไปวางที่เวบรูท ส่วนการสร้างฐานข้อมูลก็ไม่น่าเป็นปัญหา อืม เริ่มมีความหวังมาบ้าง กลับมาคุยกันอีกครั้งกับแฟน ว่าเอางัยดี ยังพอรับไอเดียนี้ได้ปะ ถ้าตกลงก็จะได้เริ่มลงมือทำงาน ถ้าคิดว่ามันดูไม่เวอร์คก็จะได้ช่วยหาข้อมูลทำโปรเจ็คอื่นๆ ให้ คำตอบก็อ่อยๆ ว่าตอนนี้ยังคิดไม่ตก พอจะทำให้ดูก่อนได้ไหม
ตัดสินใจว่าจะลองทำเป็นเดโมให้ดูก่อน ว่ามันพอจะเป็นโปรเจ็คสำหรับการไปนำเสนอเพื่อจบการเรียนได้ไหม สรุปแล้วก็มีอะไรที่เกี่ยวข้องดังนี้เอง
1. AppServ
2. เวบเพจที่เขียนด้วย html, PHP, Javascript
ใช้เวลาอยู่พอสมควรในการออกแบบฐานข้อมูล, ภาพรวมของระบบทั้งหมด, หาข้อมูล ตลอดจนสคริปต์ของ php ที่น่าจะเอามาประยุกต์ใช้ได้จากอินเทอร์เน็ต ได้หน้าเวบเพจมาสองเพจ 5555 อย่างที่บอกครับ ว่าคนที่ไม่เคยทำอะไรเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมเนี่ย ไอเดียกระฉูดก็จริง แต่พอลงมือทำแล้วมันก็ติด ก็ไปค้นหาคำตอบจากอินเทอร์เน็ตบ้าง ถามคนที่เค้าหากินกับเวบบ้าง กว่าจะสรุปแล้วทำเป็นเวบเพจสองเพจเนี่ย มันยาก แต่ก็น่าชื่นใจที่มาถูกทาง สรุปเป็นคำตอบสุดท้ายได้ว่าใช่
ลงมือทำงานอย่างจริงๆ จัง เปลี่ยนเวลาทำงานจากการนอนดึก เป็นการเข้านอนแต่หัวค่ำ ตื่นมาตอนตีสอง นั่งโค๊ดไปด้วย หาข้อมูลไปด้วย อากาศในช่วงนั้นก็เริ่มร้อน บางทีก็หยุดเนื่องจากติด ต้องค้นหาวิธีการแก้ปัญหา ประกอบกับเจ้าของโปรเจ็คไปฝึกงานที่ในเมืองหลวง ไม่ได้อยู่ช่วยกันเตรียมข้อมูลพื้นฐานบางส่วนให้ เลยทำให้งานไปได้ช้า ช่วงนี้เริ่มเครียด concept ของโปรแกรมมันก็ไม่ได้มีอะไรที่หวือหวา เรื่องที่ไม่คิดว่าจะยาก แต่ทำให้ใช้เวลานานคือ การที่เราต้องเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับฐานข้อมูล ต้องมี Insert, Update, Delete ตรงนี้ต่างหากที่เป็น Critical ผนวกกับเราไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการโค๊ดโปรแกรม Logic ในบางจุดเราหาทางออกไม่ถูกทาง ก็ต้องกลับมาทบทวนใหม่ โชคดีที่ยังมีที่ปรึกษาที่ดีมากๆ จากทีมงาน iMed คือ กวงกะเหน่ง สองโปร คอยให้คำแนะนำว่าึควรจะทำในลักษณะไหน ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม
ประมาณกลางเดือนเมษายน เดือนที่ร้อนที่สุด และเป็นเดือนที่มีวันหยุดต่อเนื่องยาว ก็เปิดตัว alpha ได้ ท่ามกลางความกังขาของทั้งสองคน ผัวเมีย ว่ามันจะไปรอดอะป่าว เหอ เหอ แต่เราก็มาไกลเกินกว่าจะหยุดได้ซะแล้ว อีกอาทิตย์ต่อมา ตัว beta ก็คลอด ตามมาติดๆ ด้วย preview release, release candidate1 ...... 10 กว่าๆ ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน พร้อมกับคู่มือการติดตั้ง, การใช้งาน ทั้งหมด เตรียมพร้อมสำหรับทำเป็นรูปเล่มได้
ต้นเดือน พฤษภาคม ทดสอบบนหน้าต่างใช้งานได้ไม่มีปัญหา แต่พอมาลองทดสอบบน ลินุกซ์ อ้าว ติดขัดเต็มไปหมด ต้องกลับมารีวิวใหม่อีกรอบ ต้องถอยกลับมาเป็น beta อีกครั้ง ทีนี้เริ่มทำงานได้เร็วมากขึ้นกว่าเดิม โค๊ดที่ดูว่ามันบ้านนอก ก็ปรับแก้ไปแล้วบางส่วน (เฉพาะส่วนที่เจอ) ในที่สุดก็สามารถทำให้โปรแกรมใช้งานบนลินุกซ์เซอร์เวอร์ได้ แต่ฐานข้อมูลยังมีการอัพเดทไปเรื่อยๆ พร้อมกับคู่มือที่เขียนใหม่อย่างเร่งด่วนซะเหลือเกิน
วันที่ 10 พฤษภาคม 2549 เป็นวันที่ปิดงานในเฟสแรก (Stable) คิดว่าจะทำให้มันนิ่ง นิ่งเฉพาะในส่วนของโค๊ด แต่ในส่วนของฐานข้อมูลยังคงมีการอัพเดทอยู่เรื่อย สืบเนื่องมาจากตอนนี้ แฟนกลับมา แล้วเอางานไปนำเสนออาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว ก็มีงานที่ต้องปรับปรุงอีกในส่วนของรูปการจัดท่าและ คำอธิบาย
ตอนนี้ผมอัพโหลดไฟล์ไว้ที่ Hospital-os dot com แล้ว นำเสนอกับชุมชน เพื่อหา Feedback นำไปปรับปรุงโปรแกรมให้เหมาะสมในการใช้งาน ง่ายในการดูแล ไม่รบกวนเวบเซอร์เวอร์
ไฟล์ที่นำเสนอมีอยู่ด้วยกันสองส่วนคือ
1. Win32 Plateform มีไฟล์ที่จำเป็นอยู่สองสามไฟล์คือ
1.1 appserv-win32-2.4.4a.exe
1.2 appserv-AddOns-ZendOptimizer-2.5.10.exe
1.3 AppServProjectXAddOns_stable_1.0_11052006.exe (ผมทำเป็น Appserv Addons ไว้เพื่อให้ยูสเซอร์ติดตั้งง่ายที่สุด)
ซึ่งไฟล์ตามข้อ 1.1, 1.2 ดาวน์โหลดได้ที่ไซต์ของ appservnetwork โดยตรงเลยนะครับ
1.4 ส่วน projectx-addons ก็ดาวน์โหลดได้ที่ home ของผมผ่าน http://www.hospital-os.com/~uthai/Download/phpCaiXray/win32/AppServProjectXAddOns_stable_1.0_11052006.exe
1.5 md5 ของไฟล์ข้างต้นคือ 7d236df57c2ef7daa9d84eadf2e281d2
1.6 สำหรับคู่มือก็ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.hospital-os.com/~uthai/Download/phpCaiXray/win32/handbook.zip อ่านให้ละเอียดนิดนึงนะครับ
2. Linux Platform
2.1 ไฟล์ www.hospital-os.com/~uthai/Download/phpCaiXray/linux/phpCaiXray.zip
2.2 MD5 ก็ดาวน์โหลดไฟล์นี้ไป www.hospital-os.com/~uthai/Download/phpCaiXray/linux/phpCaiXray.md5
2.3 การติดตั้งก็อ่านได้จากไฟล์ www.hospital-os.com/~uthai/Download/phpCaiXray/linux/howto.txt
ยาวมากไปแล้ว ไว้ต่อคราวหน้าแล้วกัน



แสดงความคิดเห็น
Powered for by Blogger Templates free hit counter code
Copyright ? 2008-2009 Uthai Lueadnakrop. All Rights reserved